Feeds:
Posts
Comments

Posts Tagged ‘ของหวาน’

 

เมื่อไปเดินตาม supermarket จะเห็นแอปเปิ้ลหลากหลายชนิด มีทั้งที่เหมาะสำหรับทานสด ใช้ทำเค้กหรือพาย  บางชนิดก็ดีสำหรับใส่ในสลัด ดูน่าทานไปหมด แอปเปิ้ลที่ใช้ทำขนมอบควรเป็นชนิดที่เนื้อแน่น กรอบ น้ำไม่มาก เช่น Gala, Golden Delicious และ Granny Smith ซึ่งรสออกเปรี้ยวหน่อย

สัปดาห์ที่แล้ว ไปเดินตลาดใกล้บ้าน เห็นมีแอปเปิ้ลแคระขาย ราคาไม่แพง เลยซื้อมาทำ Tarte Tatin ซึ่งเป็นทาร์ตที่อบโดยใช้แป้งปิดที่หน้าเท่านั้น เป็นครั้งแรกที่ลองทำ เลยลุ้นตลอด เราใช้แอปเปิ้ลสดครึ่งลูกควักแกนออกมากๆ แล้ววางเบียดซ้อนกันในกระทะเหล็กที่ทำคาราเมลไว้แล้ว สามีชอบค่ะ เค้าบอกว่า “รสแบบฝรั่งเลย อร่อยมาก ขอบอก” ได้โพสต์รูปใน facebook ด้วย หน้าตาเป็นแบบนี้ค่ะ

 

Tarte Tatin ที่ทำออกมาออกรสเปรี้ยวมากกว่าหวานและน้ำตาลไม่เข้าเนื้อแอปเปิ้ลเท่าไร เราจึงไม่ค่อยชอบ เลยคิดว่าจะทำแอปเปิ้ลพายสูตรดั้งเดิมของเราที่หน้าเป็นครัมเบิล (crumble) เพื่อลงใน blog ดีกว่า

ใช้แอปเปิ้ลเขียว (Granny Smith)  ที่ซื้อมาวันเดียวกับที่ซื้อแอปเปิ้ลแคระนั่นแหละค่ะ ยังสดใหม่อยู่เลย ก่อนทำจึงทบทวนสูตรเดิม และตรวจสอบ/หาข้อมูลเพิ่มเติมใน Internet ด้วย

สูตรแป้งพายของเราเป็นแบบหวาน ใช้เนยเค็ม (ตำราฝรั่งเค้าใช้เนยจืด แต่เราชอบให้ออกเค็มๆ หน่อย) และใช้ทั้งไข่แดงและไข่ขาว เพราะถ้าใช้แต่ไข่แดงอย่างเดียว แป้งพายจะบอบบาง แตกหักง่าย ที่ภาษาอังกฤษว่า fragile นั่นแหละ แบบนั้นน่าจะเหมาะสำหรับทำพายที่เสิร์ฟเป็นถ้วยเล็กๆ มากกว่า ส่วนไส้ก็ทำง่ายๆ โดยนำแอปเปิ้ลที่หั่นบางไปผัดกับเนย น้ำตาล และเครื่องเทศ ทำให้ข้นด้วยแป้งข้าวโพด โรยหน้าด้วยครัมเบิ้ลก่อนนำเข้าเตาอบ สูตรของเราไม่ยอมให้มีลูกเกดและ/หรืออัลมอนด์มาบดบังความอร่อยของแอปเปิ้ลล้วนๆ เป็นสูตรสำหรับถาดพายขนาด 8 นิ้วนะคะ

ส่วนผสม

      แป้งพายแบบหวาน

–    แป้งสาลีเอนกประสงค์ตราว่าว 180 กรัม

–    น้ำตาลป่น (castor sugar) 30 กรัม

–    เนยสดชนิดเค็ม 120 กรัม

–    ไข่แดงเบอร์สอง 1 ฟอง

–    ไข่ขาวน้ำหนักเท่าไข่แดง (ไข่ขาวที่เหลือเก็บไว้ใช้ทาแป้งพาย)

     ไส้พาย

–    แอปเปิ้ลเขียวพันธุ์  Granny Smith  900 กรัม ผ่าสี่ ปอกเปลือก เฉือนแกนกลางทิ้ง แช่น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะที่ผสมน้ำเปล่าพอท่วม แล้วนำมาหั่นแฉลบหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร จะได้ประมาณ 650 กรัม

 

–    เนยเค็ม 60 กรัม

–    น้ำตาลป่น 90 กรัม

–    น้ำตาลรัม (ทรายแดง) 90 กรัม

–    อบเชยป่น ½ -1 ช้อนชา

–    ลูกจันทร์ป่น 1/8-1/4 ช้อนชา

–    วานิลลา 1 ช้อนชา

–    แป้งข้าวโพด 10-15 กรัม

–    น้ำ ¼ ถ้วย

     หน้าครัมเบิล

–    แป้งสาลีเอนกประสงค์ตราว่าว 75 กรัม

–    น้ำตาลป่น 23 กรัม

–    น้ำตาลรัม (ทรายแดง) 23 กรัม

–    เนยเค็ม 60 กรัม

วิธีทำ

1. เตรียมไส้พายก่อนโดยละลายเนยในกระทะใบใหญ่ (ใช้แบบ non-stick) เทน้ำตาลทั้งสองชนิดลงไปทั้งหมด ผัดจนน้ำตาลเดือด แล้วใส่ชิ้นแอปเปิ้ลลง ผัดต่อไป ใช้ไฟอ่อนๆ จนนุ่มลงแต่ยังคงรูปอยู่ (ประมาณ 10 นาที) ระหว่างนี้เติมเครื่องเทศและวานิลลา ทำให้ข้นด้วยแป้งข้าวโพดละลายน้ำ ตอนนี้ต้องกะดูค่ะ ปริมาณประมาณที่บอก แต่ถ้าข้นเกินไปก็เติมน้ำได้อีก ปิดไฟและทิ้งให้เย็นในกระทะ

 

2. ระหว่างรอให้ไส้แอปเปิ้ลเย็น เตรียมแป้งพายโดยร่อนแป้งกับน้ำตาล เติมเนยเย็นที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วสับด้วยมีด/ซ่อม/เบลนเดอร์สำหรับพาย หรือใช้มือบี้ให้เป็นผงร่วนเหมือนขนมปังป่นหยาบ จึงเทส่วนผสมของไข่แดงและไข่ขาวลงไป เคล้าให้เข้ากัน ห้ามนวด เพราะแป้งพายจะเหนียว เสร็จแล้วใส่ภาชนะปิด นำเข้าแช่เย็นช่องธรรมดาประมาณครึ่งชั่วโมง

ส่วนครัมเบิล ทำด้วยวิธีการเดียวกัน และแช่เย็นด้วยค่ะ

 

3. นำแป้งพายมากรุลงถาดจนถึงขอบ แล้วทาผิวด้วยไข่ขาวเพื่อกันส่วนผสมไส้ไม่ให้ซึมลงในแป้งระหว่างการอบ

4. บรรจุไส้ลง โรยหน้าด้วยแป้งครัม นำเข้าอบที่อุณหภูมิ 375 องศาฟาเรนไฮท์ 15 นาที ปรับไปที่อุณหภูมิ 350 องศาฟาเรนไฮท์ อบต่ออีก 45 นาที จึงนำออกจากเตาอบ แล้วทิ้งให้เย็น (ตอนอบ วางบนถาดที่รองด้วยฟอยด์ กันซอสไหลล้นออกมาแล้วเตาอบเราจะเลอะ ทำความสะอาดลำบาก)

 

ตัดชิมดูแล้ว อืม อร่อย แป้งกรอบร่วนกำลังดี ไม่แตกง่าย ตัวไส้มีความหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีรสคารา  เมลนิดๆ ชอบมากกว่า Tarte Tatin แต่ถ้าใช้แอปเปิ้ลชนิดที่มีรสหวาน คงต้องเติมน้ำมะนาวลงด้วยประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะค่ะ

….. ชิมได้นิดหน่อยเอง น้ำหนักห้ามขึ้นเด็ดขาด เดี๋ยวอาทิตย์หน้าต้องหาหมอแล้ว …..

 

เกร็ดความรู้

      เลือกซื้อแอปเปิ้ลที่จับดูแล้วแน่น ผิวไม่เหี่ยว มีกลิ่นหอม เก็บรักษาในถุงพลาสติกในตู้เย็น ถ้าต้องการเก็บนาน ให้ห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ก่อน และเนื่องจากแอปเปิ้ลมีแทนนิน เมื่อปอกผิวออกแล้วทิ้งไว้ มันจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล สามารถกันโดยแช่ในน้ำที่ผสมน้ำมะนาวหรือน้ำเลมอน

แอปเปิ้ลเข้ากันได้ดีกับอาหารจานหมู ถ้าทำสตูว์หมูหรือหมูตุ๋นแบบแห้งๆ แนะให้ลองใส่แอปเปิ้ลลงไปด้วย จะได้ความหวานอมเปรี้ยวจางๆ แทนน้ำตาลได้เลยค่ะ หรือจะทำซอสแอปเปิ้ลทานกับหมูอบก็อร่อยนะคะ จะทานแบบอุ่นๆ หรือเย็นก็อร่อยไม่แพ้กัน ทำโดยหั่นแอปเปิ้ลเขียวประมาณ 250 กรัมเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มจนนุ่มกับน้ำ 1/3 ถ้วย น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ เกลือและอบเชยป่นอย่างละนิดหน่อย เมื่อได้ที่แล้วจึงเติมเนย 1 ช้อนโต๊ะ นำไปปั่นให้ละเอียดเนียน ….. อร่อยอีกแล้ว

Read Full Post »

ชีวิตในวัยเด็ก พักอาศัยอยู่บ้านคุณย่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี เมื่อเข้าโรงเรียนที่ตั้งอยู่ระหว่างถนนสีลม-สาทร ในระยะแรกๆ การเดินทางต้องข้ามฟากมายังฝั่งพระนครด้วยเรือจ้าง ต่อมามีการพัฒนาโดยเอกชนจัดเรือยนต์รับจ้างมาขึ้นที่ท่าเรือปากคลองสาทร แล้วเดินต่อไปโรงเรียน ถนนสาทร(เหนือ)ในสมัยนั้น นานๆ จะมีรถยนต์วิ่งสักคัน มีต้นมะฮอกกานีอยู่สองฟากฝั่งถนน (คนรุ่นใหม่อาจนึกภาพไม่ออก) ขอกราบขอบพระคุณบุพการีไว้ ณ ที่นี้ ที่ถึงแม้จะยากลำบากอย่างไร ก็ให้ลูกมีโอกาสได้รับการศึกษาในโรงเรียนเอกชนดีๆค่ะ

ข้างๆ บ้านคุณย่า เป็นโรงเลื่อยไม้เพื่อแปรรูปเป็นไม้แผ่น ในบางช่วงเวลาจึงมีแพท่อนซุงและแพไม้ไผ่ที่ทำเป็นลูกบวบ (ใช้เป็นทุ่นในการขนส่งท่อนซุงมาตามลำน้ำเจ้าพระยาจากทางเหนือ) อยู่บริเวณหน้าบ้านเต็มไปหมด ไม่มีใครที่ว่ายน้ำไม่เป็น เด็กๆ หัดว่ายน้ำกันโดยใช้ลูกมะพร้าว 2 ลูกผูกโยงด้วยเชือกเป็นทุ่น หรือเด็กผู้หญิงก็อาจใช้วิธีตีโป่งเอาลมเข้าผ้าถุง เด็กๆ ทั้งหญิง-ชายชอบกระโดดเล่นข้ามท่อนซุงและแพไม้ไผ่นี้ บางครั้งก็สามารถไปได้ไกลจากฝั่งมาก ตามซอกระหว่างลำไม้ไผ่เป็นที่อาศัยของกุ้งและปลาตัวเล็กๆ เราชอบช่วยกันพลิกแพที่ว่างๆ เพื่อจับกุ้งกัน เป็นที่สนุกสนานมาก แม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยนั้น ถ้าเป็นช่วงเดือนสิบสองน้ำนองตลิ่ง น้ำจะกร่อยและไม่ค่อยขุ่น กุ้งตัวใหญ่ๆ จะเมาน้ำและลอยขึ้นมา ใช้มือเปล่าๆ ก็ยังจับได้ง่ายๆ นับว่าอุดมสมบูรณ์มาก

ตอนพลบค่ำ เรามักชอบไปนั่งกันที่บริเวณริมน้ำซึ่งมีสะพานยาวทอดออกไป เนื่องจากในช่วงค่ำ จะมีเรือพายขายอาหาร ส่วนใหญ่เป็นขนมประเภทตัดเป็นชิ้น (ขนมถาด) โบ๊กเกี้ย บะหมี่ เกี๊ยว และมีเรือที่ขายหมี่หวานต้มน้ำตาลด้วย เราเรียกกันว่า ตี๊หมี่ ทานร้อนๆ ค่ะ แม่ก็ต้มให้ทานบ่อยๆ สมัยเป็นเด็กทานอะไรก็อร่อยไปหมด

เมื่อระลึกถึงหมี่หวาน ของชอบทานในวัยเด็ก เลยเข้าไปดูในเว็บ เห็นมีหมี่หวานหลายเจ้าที่มีคนไปชิมกันแล้วนำมาเขียนกันไว้ จึงนึกได้ว่าที่บ้านมีวัตถุดิบที่พอจะทำบะหมี่เองได้ และมีเครื่องรีดเส้นพาสตาที่ไม่ค่อยได้ใช้งานอยู่ด้วย จึงเป็นที่มาของหมี่หวานงาดำค่ะ เริ่มตั้งแต่ทำบะหมี่งาดำ เป็นบะหมี่ไข่ที่ทำจากแป้งสาลีเอนกประสงค์ และเราจะใช้ไม่มากนักค่ะ

ส่วนผสม (สำหรับ 4 ที่)

แป้งสาลีเอนกประสงค์ 45 กรัม

งาดำบด 5 กรัม

เกลือ ¼ ช้อนชา

เบกกิ้งโซดา 1/16 ช้อนชา

ไข่ไก่เบอร์ 2 ประมาณ ½ ฟอง

น้ำมันพืช ¼ ช้อนชา

แปะก๊วย 150 กรัม ต้มกับน้ำเชื่อมรสอ่อนๆ

พุทราจีนเชื่อมแล้ว 8 ลูก

วิธีทำ

1. ผสมแป้ง (ปกติใช้ตราว่าวค่ะ) กับเกลือและโซดา คนให้เข้ากันดี ร่อน 1 ครั้งลงในอ่างที่ใช้นวด เติมงาดำลงผสม และคนให้เข้ากัน

2. ค่อยๆ เทไข่ไก่ที่ตีจนแตกแล้วลงไป พร้อมกับนวดไปด้วย หากใช้เครื่องและหัวตะขอให้ใช้ความเร็วปานกลาง (แต่ปกติทำน้อยๆ แบบนี้นวดด้วยมือดีกว่าค่ะ ไม่ยุ่งยากและการที่มือสัมผัสแป้งโดยตรง จะกะปริมาณไข่ได้ง่ายกว่า)

3. ปริมาณไข่ที่ใช้ ให้ดูลักษณะแป้ง ต้องไม่แฉะหรือแห้งเกินไป

4. เติมน้ำมันพืช และนวดต่อจนแป้งไม่ติดภาชนะหรือไม่ติดมือ จากนั้น ให้ทำแป้งเป็นก้อนแล้ววางในภาชนะที่คลุมด้วยพลาสติกหรือผ้าชื้นๆ เพื่อกันแป้งแห้ง ทิ้งไว้ให้แป้งพักตัวประมาณ 1 ชั่วโมง

5. นำแป้งมาเข้าเครื่องรีดหลายๆ ครั้งตามลำดับความหนาไปบางของเครื่อง รีดให้บางที่สุด สุดท้ายให้เครื่องตัดเป็นเส้น บะหมี่ที่ได้มีสีเทาอ่อน เห็นเมล็ดงากระจายอยู่บ้าง เนื่องจากไม่ได้ใช้งาบดละเอียด

ระหว่างการทำ ให้โรยแป้งนวลด้วย เพื่อไม่ให้เส้นที่ตัดแล้วมาติดกัน

หากไม่มีเครื่องรีดแป้ง ให้ใช้ไม้คลึงแป้งออกมาให้บางที่สุด แล้วตัดออกเป็นเส้นเล็กๆ ก็ได้

6. ม้วนเส้นมะหมี่เป็นก้อน จะใช้เลยก็ได้ แต่ปกติจะเก็บไว้ในตู้เย็นก่อนอย่างน้อย 1 วัน

7. เมื่อต้องการรับประทาน นำเส้นบะหมี่งาดำไปลวกในน้ำเดือด ให้สุกพอดี ราดด้วย น้ำเชื่อมแปะก๊วยและพุทราจีนร้อนๆ หรือนำไปเป็นอาหารคาวก็ได้ (หากทำเป็นอาหารคาว ส่วนข้างต้นจะพอสำหรับ 1 คนทานเท่านั้น)

ซื้อแปะก๊วยมากะเทาะเปลือกเองค่ะ โดยต้มทั้งเปลือกกับน้ำพอท่วม จนเดือด ทิ้งให้อุ่น ทุบเปลือก แกะเมล็ด ลอกเยื่อหุ้มสีน้ำตาลออก ได้เนื้อแปะก๊วยสีเหลือง ลองชิมดูแล้วรสไม่ขมเท่าไร แต่ก็ใช้ไม้แหลมแทงทะลุตามยาว เพื่อให้น้ำเข้าไปถึงกลางเมล็ดได้ แล้วนำไปต้มประมาณ 5 นาทีก่อนเติมน้ำตาล (สัดส่วน น้ำ 1 ลิตร ต่อน้ำตาลทรายขาว 50 กรัมและน้ำตาลทรายแดง 50 กรัม หรือ ใช้น้ำตาลกรวดก็ได้ ความหวานเติมได้อีกแล้วแต่ชอบค่ะ เติมเกลือ 1 หยิบมือเพื่อตัดรส) ใส่พุทราจีน แล้วต้มต่อด้วยไฟกลางค่อนข้างอ่อนอีกประมาณ 10 นาที

 

เกร็ดความรู้

ของเหลวที่เติมระหว่างการนวด จะทำให้โปรตีนบางชนิดในแป้งสาลีเปลี่ยนสภาพเป็นกลูเตน ทำให้แป้งเหนียวและยืดหยุ่น ต้องนวดให้ได้ที่พอดีหรือจนกว่าไม่ติดมือ

วิธีนวดด้วยมือ ให้วางก้อนแป้งลงบนพื้นที่จะใช้นวด ใช้ฝ่ามือทั้งสองรวบก้อนแป้งผลักไปข้างหน้าแล้วดึงกลับเข้าหาตัว สลับกันไปเรื่อยๆ (หากทำในปริมาณน้อยๆ สามารถนวดโดยใช้มือเดียว ในอ่างหรือภาชนะขนาดพอเหมาะก็ได้)

งาดำ ชนิดที่บดแล้วย่อยง่ายกว่าที่เป็นทั้งเมล็ด ก่อนบดควรนำมาคั่วให้หอมก่อน และเมื่อบดแล้วควรเก็บในตู้เย็นเพื่อรักษาคุณภาพ และหากต้องการเก็บไว้นานๆ ให้เก็บในช่องแช่แข็ง

ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของงาดำ จาก บัลวีรายปักษ์ ฉบับที่ 172:16-31 ก.ค.53

– มีสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ป้องกันโรคตับ ป้องกันต่อมลูกหมากโต

– บรรเทาอาการเกี่ยวกับประจำเดือน

– แก้โรคเลือดจาง

– แก้โรคผิวหนัง

– ต้านอาการซึมเศร้า

– มีแคลเซียมสูงมาก มากกว่านมวัว 14 เท่า

ข้อมูลเรื่องงาดำจาก ผิดพลาด! การอ้างอิงการเชื่อมโยงหลายมิติไม่ถูกต้องความร่วมมือของ สสส. และวิชาการดอทคอม

งาดำ…เมล็ดจิ๋วประโยชน์แจ๋ว!

ช่วยบำรุงผม-ผิวสวย-กระดูก-หัวใจ

ก่อนหน้านี้ คลื่นความนิยมเจ้าพืชเมล็ดเล็กๆ อย่าง “งาดำ” ก็ฟุ้งกระจายไปทั่วสังคมไทยคล้ายกับปรากฏการณ์ “ชาเขียว” ที่เกิดกระแสโหมฮิตเป็นพักๆ อันที่จริงทั้งชาเขียวและงาดำที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ถือเป็นของดีมีประโยชน์ แต่ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ก็คือ ลักษณะเฉพาะ “เทรนด์” สุขภาพในประเทศไทยบ้านเรามักจะเป็นช่วงๆ และช่วงหนึ่งๆ ก็เพียงสั้นๆ อะไรฮิตอะไรนิยมก็แห่ไปซื้อหา พอเลิกเป็นกระแสหรือมีตัวใหม่ออกมาแทน ก็จะแห่ไปทำตามความนิยมในช่วงนั้นๆ ทำให้การกินเพื่อบำรุงสุขภาพนั้นไม่ต่อเนื่อง

…งาดำเองก็ไม่ได้หนีพ้นปรากฏการณ์ฮิตเป็นพักๆ ดังกล่าวด้วย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจารย์สุกัญญา หงส์ประภาส จากคลินิกเฉพาะทางการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลนครธน ได้ให้ความรู้อันน่าสนใจยิ่งว่า “งาดำ” นั้นเป็นพืชที่มีประโยชน์มาก และควรจะรับประทานอย่างต่อเนื่องในรูปแบบของ “อาหาร” เป็นประจำ จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้มีต้นทุนมาก เมื่ออายุมาก ชราลง ร่างกายจะแข็งแรงกว่าคนที่ละเลยไม่รับประทาน

“งาดำเป็นอาหารสารพัดประโยชน์ ช่วยบำรุงหลายส่วนของร่างกาย ทั้งผม ผิวพรรณ เล็บ กระดูก เพิ่มแคลเซียม ช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ บำรุงหัวใจให้แข็งแรง มีกรดไขมันดีมาก มีสารอาหารที่ดีต่อร่างกายหลายชนิด แม้คนที่ยังเด็กหรือไม่มีอาการป่วย ก็ควรรับประทานเป็นประจำเพื่อสร้างต้นทุนทางสุขภาพที่ดีให้แก่ร่างกายตัวเอง และสำหรับผู้หญิงที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยทอง งาดำจำเป็นมาก เพราะจะช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้ผลเนื่องจากมีแคลเซียมสูง”

ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนไทยรายนี้ อธิบายต่อไปอีกว่า การรับประทานงาดำ ควรรับประทานเป็นอาหาร แทนที่จะรับประทานเป็นสารสกัด ก่อนรับประทานควรนำมาคั่วให้โดนความร้อนสักนิด ควรคั่วไว้ใช้กะให้ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ แบ่งออกมาคั่วและเก็บไว้ในขวดโหลที่แห้ง เมื่อหมดแล้วค่อยคั่วใหม่ เพื่อให้ได้รับประทานงาคั่วใหม่ๆ หอมๆ ทุกสัปดาห์ เวลาเลือกซื้อควรเลือกซื้อยี่ห้อที่ดีสักหน่อย มีการบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิดเรียบร้อย ไม่ควรซื้อที่แบ่งขายตามร้านของของชำ เพราะอาจเสี่ยงกับมูลแมลงสาปหรือแมลงอื่นๆ จากการเก่าเก็บภายในร้าน และไม่ควรซื้อแบบที่บดสำเร็จแล้วเนื่องจากอาจมีเชื้อราอะฟลาทอกซินติดมาด้วย

“การรับประทานงาดำไม่แนะนำให้โรยในข้าวหรือใส่กับเครื่องดื่ม เพราะวิธีการรับประทานงาดำที่ดีที่สุดคือการเคี้ยว หากเราโรยข้าวหรือใส่เครื่องดื่ม บางครั้งไม่ได้เคี้ยว ร่างกายอาจจะดูดซึมไม่ได้เต็มที่ เข้าไปอย่างไรก็ออกมาอย่างนั้น ดังนั้นต้องเคี้ยว ปกติก็รับประทานอยู่ ใส่กับขนมปังโฮลวีตทุกเช้า วันละ 10 ช้อน แต่ถ้าเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน ก็อาจจะไม่ต้องมากขนาดนี้ อาจจะประมาณวันละ 3-4 ช้อน หรือเดี๋ยวนี้เห็นเขาทำน้ำเต้าหู้งาดำขาย อันนั้นก็รับประทานได้เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นวัยสูงอายุหน่อยหรือเข้าสู่วัยทองก็เพิ่มปริมาณให้มากหน่อย คือ อาจจะ 6-9 ช้อนก็ได้”

และไม่ใช่เฉพาะแค่การรับประทานอย่างเดียว อาจารย์สุกัญญา ยังให้ภาพคุณประโยชน์รอบด้านของงาดำเพิ่มเติมด้วยว่า ในการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูก ข้อ และเส้นเอ็น แบบการแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลที่อาจารย์เป็นผู้ดูแลอยู่นั้น ก็ได้นำเอาน้ำมันเมล็ดงามาใช้ทานวดเพื่อแก้อาการบาดเจ็บของเส้นเอ็นอีกด้วย

“ที่โรงพยาบาล น้ำมันนวดจะใช้น้ำมันงานี้เป็นพื้นฐาน และจะนำสมุนไพรต่างๆ มาผสมเพื่อปรุงเป็นยานวด น้ำมันงาจะมีสรรพคุณช่วยนำพาฤทธิ์ยาสมุนไพรที่ถูกนำมาผสมอยู่ดูดซึมเข้าไปรักษาเส้นเอ็นที่บาดเจ็บได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

Read Full Post »