อากาศร้อนๆ ทานไอศกรีมแล้วชื่นใจ แต่จริงๆ แล้วหากอากาศเย็นหน่อย ไอศกรีมละลายช้า จะเหมาะในการทานไอศกรีมที่สุด
ส่วนประกอบพื้นฐานของไอศกรีม ได้แก่ ครีมตีฟู (whipped cream) นม น้ำตาล อาจมีหรือไม่มีไข่แดงซึ่งนำมาทำเป็นคัสตาร์ดก่อน นอกจากนี้ อาจมีสารเพิ่มความคงตัว/ความเหนียว สารแต่งกลิ่น และอื่นๆ ที่ใส่เพิ่มเติมเข้าไปอีก
นอกจากไอศกรีมแล้ว ปัจจุบัน นิยมทานน้ำผลไม้ปั่น (smootie) กัน และที่รสดีๆ ก็มักจะใช้โยเกิร์ตเป็นส่วนผสม เติมน้ำหวานและปั่นกับน้ำแข็ง หากชอบทาน เราทำเองเป็นแบบไอศกรีมก็น่าจะดีนะคะ วิธีทำก็ง่ายแสนง่าย ไม่ต้องมีเครื่องปั่นไอศกรีมก็ทำได้ ขอให้มีตู้เย็นสภาพดีที่ช่องแข็งทำน้ำแข็งได้ก็พอ
ไอศกรีมที่ทำจากโยเกิร์ตผสมน้ำเสาวรส ผลไม้รสเปรี้ยวจัดแต่ซ่อนหวาน สูตรข้างล่างนี้ รสหวานน้อย รับรองว่าอร่อยแน่นอนค่ะ ใครไม่ชอบรสน้ำเสาวรสแต่ชอบทานโยเกิร์ต ทานแล้วอาจติดใจก็ได้นะคะ
ส่วนผสม
– โยเกิร์ตทำเองจากนมไขมันเต็ม 240 กรัม (เมื่อนำออกจากตู้เย็นแล้ว ให้ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องก่อน)
– น้ำตาลทรายเม็ดละเอียด/castor sugar 60 กรัม
– น้ำนมไขมันเต็ม 120 กรัม (หากต้องการความหอมมัน ให้ใช้ whipping cream ตีฟู)
– เจลาติน 1 ¼ ช้อนชา
– เกลือ หยิบมือ (เพื่อตัดความเปรี้ยวของน้ำเสาวรส)
– กัวร์กัม 1/12 ช้อนชา (หากไม่มี ไม่ต้องใช้ก็ได้ค่ะ)
– น้ำ 2 ช้อนชา
– น้ำเสาวรสแบบไม่มีเมล็ด 120 กรัม
(ที่ใช้เป็นของโครงการหลวง ซื้อที่แมคโคร บรรจุในแพคพลาสติก ซื้อมาแล้วแบ่ง/บรรจุใหม่เป็นถุงเล็กแล้วเก็บในช่องแข็งได้นาน)
วิธีทำ
1. เทน้ำตาลทรายลงในโยเกิร์ต คนให้น้ำตาลละลายจนหมด เติมเกลือ
2. โรยเจลาตินลงในน้ำนม ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที นำไปอุ่นให้ร้อนจนเจลาตินละลายหมด ไม่ต้องถึงกับเดือดนะคะ
3. ผสมกัวร์กัมกับน้ำ คนให้เข้ากัน จนเป็นน้ำใสและหนืดๆ แล้วเทลงในน้ำนมที่มีเจลาตินอยู่แล้ว
4. ค่อยๆ ผสมโยเกิร์ตครั้งละ 1 ใน 4 ส่วนลงในน้ำนมที่ผสมเจลาตินและกัวร์กัม ผสมจนหมด คนให้เข้ากันดี หรือหากแน่ใจว่าโยเกิร์ตคลายความเย็นลงจนถึงอุณหภูมิห้องแล้ว ก็เทลงไปจนหมดในคราวเดียวก็ได้ (หากใช้โยเกิร์ตที่เย็นเกินไปหรือนำออกมาจากตู้เย็นใหม่ๆ จะทำให้เจลาตินแข็งตัวเป็นลิ่มๆ แก้ไขยากค่ะ) คนส่วนผสมให้เข้ากันดี ส่วนผสมจะมีความหนืด
5. เติมน้ำเสาวรส คนให้เข้ากันดี (ไม่ควรผสมน้ำเสาวรสกับน้ำนมโดยตรงนะคะ นมอาจเป็นลิ่ม (curd) หยาบๆ ได้ เหมือนตอนเราทำนมเปรี้ยวโดยผสมน้ำมะนาวกับนมเพื่อใช้ทำเค้กบางชนิดยังไงยังงั้นเลย เราต้องการส่วนผสมที่เนียนๆ ค่ะ
ปริมาตรของส่วนผสมข้างต้น ดูเหมือนน้อยนะคะ แต่เมื่อทำเสร็จแล้ว มันจะฟูขึ้นอีก
6. เสร็จแล้ว หากมีเครื่องปั่นไอศกรีม นำส่วนผสมใส่เครื่องปั่น ให้ทำงานได้เลยค่ะ (เครื่องปั่นไอศกรีมที่ใช้อยู่ เป็นขนาดเล็ก ทำงานในช่องแข็งของตู้เย็น ได้มาจากนำแต้มบัตรเครดิตไปแลกมาค่ะ)
หากไม่มีเครื่องปั่น ให้แช่ส่วนผสมในช่องแข็ง หมั่นเอาออกมาคนทุกชั่วโมง เมื่อเป็นเกล็ดน้ำแข็งทั่วแล้ว ให้นำออกมาปั่น แบบทำน้ำผลไม้ปั่น แล้วนำกลับเข้าช่องแข็ง
ไอศกรีมที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ ควรบ่มค้างคืนไว้ก่อนทานค่ะ
นอกจากน้ำเสาวรสแล้ว อาจใช้น้ำส้ม Sunquick แยมผลไม้รสที่ชอบ ปัจจุบัน มีแยมผลไม้ที่รสไม่หวานหรือหวานน้อยขาย ลองดูปริมาณน้ำตาลที่บอกไว้ข้างขวด แล้วปรับลดส่วนของน้ำตาลในสูตรค่ะ
หากไม่ใส่น้ำผลไม้ในไอศกรีม ก็สามารถทานไอศกรีมโยเกิร์ตเปล่าๆ กับผลไม้สด เช่น สตรอเบอรี่ บลูเบอรี่ หรือราดซอสแอปเปิ้ล (ทำง่ายๆ โดยนำแอปเปิ้ลขนาดใหญ่ 1 ผลมาสับหยาบๆ แล้วผสมกับน้ำมะนาว 2 ช้อนชา น้ำตาลทรายเล็กน้อย/ตามชอบ นำไปตั้งไฟสักครู่ และพักให้เย็น
เกร็ดความรู้
น้ำเสาวรส (Passion fruit) มี beta carotene โปแตสเซียม และใยอาหาร ในปริมาณสูง และยังเป็นแหล่งที่ดีของวิตามินซี อีกด้วย
กัวร์กัม ได้จากเมล็ดพืช (guar bean) เป็นสารชอบน้ำ สามารถละลายได้ในน้ำเย็น ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้ส่วนผสม ไม่แยกชั้น โดยไปเพิ่มความหนืดซึ่งประสิทธิภาพในการนี้สูงกว่าแป้งข้าวโพดถึง 8 เท่า หากต้องการใช้แทนแป้งข้าวโพด ให้ลดปริมาณลงเหลือเพียง 1 ใน 16 ส่วน (ข้อมูลจาก http://www.ehow.com) หรือหากต้องการใช้แป้งข้าวโพดแทนกัวร์กัม ก็ให้ใช้ 16 เท่าของปริมาณกัวร์กัมในสูตร และต้องนำไปกวนให้ข้นบนเตาไฟด้วย
ต้องซื้อเครื่องป่นไอศกรีมที่ไหนคะ
ไม่ต้องซื้อก็ได้ค่ะ แต่ถ้าต้องการ น่าจะมีขายที่แผนกเครื่องไฟฟ้าตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ที่วีรสุก็มี ในรูปเป็นของ Panasonic ที่นำแต้มบัตรเครดิตไปแลกมา แต่แบตเตอรี่แพงจัง 2 ก้อน 200 กว่าบาท ถ้าแบตหมดก็คงไม่ซื้อแล้วค่ะ ใช้เอาออกมาปั่นทุกชั่วโมงก็ได้ค่ะ ตั้งแต่เด็กๆ มา คุณพ่อของอาจารย์ก็ทำแบบเอาออกมาคนๆ แล้วเก็บเข้าช่องแข็งจนเป็น ice cream มันก็พอใช้ได้ แต่เนื้ออาจไม่ละเอียดเท่าของโรงงานผลิต